บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ภิกษุควรเป็นผู้มีสัมปชัญญะ


ในบทความชุดนี้ ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อของสายพอง-ยุบกับสายนาม-รูปที่นำมาโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริงว่า

การปฏิบัติธรรมของตนนั้น ถ้าปฏิบัติตามแล้ว สามารถจะบรรลุพระอรหันต์ได้ภายใน 7 ปี 7 เดือน 7 วัน นั้น

ไม่จริง ทำไม่ได้

จากการอ่านพระสูตรในพระไตรปิฎก ผมพบเนื้อหาของพระสูตรหนึ่ง ที่จะนำมาพิสูจน์ได้ว่า ความเชื่อของพระพม่าดังกล่าวนั้น ไม่จริง  เป็นไปตามที่ผมเสนอไว้ในหลายบทความแล้ว

ขอย้ำว่า การพิสูจน์ครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์กันในทางวิชาการ

สำหรับการพิสูจน์กันในทางปฏิบัติแล้ว ข้อเท็จจริงก็พบกันไปแล้ว แต่สาวกของสายพอง-ยุบกันสายนาม-รูปไม่เฉลียวใจกันเองว่า กำลังเข้าใจผิดตามพระพม่าไป  นั่นก็คือ

ยังไม่เคยมีใครในสายพอง-ยุบและสายนาม-รูป บรรลุพระอรหันต์ได้ภายใน 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แม้แต่คนเดียว

ซึ่งก็น่าจะพิสูจน์ได้ประการหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมแบบนี้ ไม่ถูกต้อง อย่างน้อยก็ไม่ถูกต้องตามคำโฆษณาชวนเชื่อของพระพม่า

ตรงนี้ ขอเปรียบเทียบกับพระสายพุทโธ ซึ่งยังมีความเชื่อที่ว่า พระเหล่านั้น บรรลุพระอรหันต์แล้ว  แต่ความเชื่อแบบนี้ ในสายพอง-ยุบ หรือนาม-รูป ไม่เคยมีปรากฎให้เห็น

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสูตรนี้ นำมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค เป็นข้อความในส่วนของคามกัณฑ์ในมหาปรินิพพานสูตรฯ

โดยผมค้นมาจาก พระไตรปิฎกฉบับซีดีรอมของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ฯ (วัดมหาธาตุ)

เหตุการณ์ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานแล้ว

ขณะที่ตรัสสอนพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน เขตเมืองเวสาลี พระองค์ตรัสเรียกภิกษุมาแล้วแล้วรับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับเธอ

ข้อความตรงนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ แล้วทรงย้ำว่า คำสอนนี้เป็นอนุสาสนีสำหรับพระภิกษุทั้งหลายอีกด้วย

คำว่า อนุสาสนี พจนานุกรมพุทธศาสตร์ของพระพรหมคุณาภรณ์ ให้ความหมายไว้ดังนี้

อนุสาสนี หมายถึง คำสั่งสอน, คำแนะนำพร่ำสอน; (บาลี: อนุสาสนี; สันสกฤต: อนุศาสนี)

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึง อนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๓ ใน ปาฏิหาริย์ ๓)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ดังนี้

อนุสาสนี หมายถึง น. คำสั่งสอน

อนุสาสนี ปาฏิหาริย์ หมายถึง น. การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์อย่าง 1 ในปาฏิหาริย์ 3 ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

โดยสรุป ก็อยากจะย้ำตรงนี้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า การสอนตรงนี้สำคัญมาก

ต่อไปพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้มีสติเป็นอย่างไร ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก  อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

แสดงว่า ผู้มีสตินั้น ก็คือ ผู้ที่พิจารณาเห็น/ตามเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

แค่นี้สายพอง-ยุบกับสายนาม-รูปก็เหงื่อแตกแล้ว  เพราะคำว่า เห็นนั้นชัดเจนอยู่แล้ว

การแปลคำว่า อนุปัสสนา เป็น พิจารณาเห็นหรือตามเห็นก็ตาม ก็พอยอมรับได้  แต่จะไปแปลตามฝรั่งว่า เข้าใจ/understand ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญก็คือ ข้อความนี้ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกอย่างนี้แสดงว่า การที่ปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 พระพุทธเจ้าสอนว่า สามารถกำจัดอภิชฌา และโทมนัสได้

แล้วอภิชฌากับโทมนัสนั้น คืออะไร

อภิชฌา หมายถึง โลภอยากได้ของเขา, ความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น (ข้อ 8 ในอกุศลกรรมบถ 10)

อกุศลกรรมบถ 10 คือ ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี 10 อย่าง คือ

ก. กายกรรม 3 ได้แก่
   1. ปาณาติบาต การทำลายชีวิต
   2. อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้
   3. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
ข. วจีกรรม 4 ได้แก่
   4. มุสาวาท พูดเท็จ
   5. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
   6. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
   7. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
ค. มโนกรรม 3 ได้แก่
   8. อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา
   9. พยาบาท คิดร้ายเขา
   10. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม;

ส่วนโทมนัส หมายถึง ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ; ดู เวทนา

นั่นก็แสดงว่า การมีสติในสติปัฏฐาน 4 สามารถกำจัดได้เพียงความโลภ และความเสียใจ ความทุกข์ใจเท่านั้น  จะบรรลุพระอรหันต์ได้ภายใน 7 ปี 7 เดือน 7 วันได้อย่างไร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น